สาขาสัตวศาสตร์ และธุรกิจปศุสัตว์ (ปรับปรุง 2564)
คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ร่วมงานการแข่งขันทักษะวิชาการและวิชาชีพทางด้านการเกษตรของเครือข่ายเกษตรราชภัฏ ครั้งที่ 5 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จังหวัดสงขลา

วันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์จารุณี หนูละออง อาจารย์เกตวรรณ  บุญเทพ อาจารย์บุคอรี มะตูแก และอาจารย์สุวรรณา  ทองดอนคำ นำนักศึกษาสาขาวิชาสัตวศาสตร์ เข้าร่วมงานแข่งขันทักษะวิชาการและวิชาชีพทางด้านการเกษตร เครือข่ายเกษตรราชภัฏทั่วประเทศ ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2562 ณ มรภ.สงขลา ด้วยที่ประชุมเครือข่ายเกษตรราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาทางวิชาการของคณะเกษตรศาสตร์ และสาขาที่เกี่ยวข้องในกลุ่มราชภัฏ

โดย ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการแข่งขันทักษะวิชาการและวิชาชีพทางด้านการเกษตร เครือข่ายเกษตรราชภัฏทั่วประเทศ ครั้งที่ 5 ว่า เกษตรเป็นศาสตร์ที่มีคุณค่าและอยู่ในทุกส่วนของสังคม แต่ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้นตลอดเวลา วันนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่ไม่เหมือนเดิมโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ หากปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเกษตรกรรายย่อยจะเป็นได้แค่เพียงผู้รับจ้างผลิต และตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ที่เข้มแข็งกว่าอยู่เรื่อยไป สิ่งเหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่มาถึงแล้วและไม่มีทางเลือกให้เรามากนัก นอกจากเตรียมตัวให้พร้อม ปรับปรุงพัฒนาตัวเอง ดำเนินทางสายกลางตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับสร้างตลาดใหม่ สร้างตราสินค้า เพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรม ไม่เช่นนั้นเราก็อาจประสบปัญหาจนต้องล้มหายไปในที่สุด

ผศ.ดร.นิวัต กล่าวว่า นับจากนี้ไปจึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องปรับตัว รวมถึงต้องร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อยกระดับไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 หรือยุคแห่งการปฏิรูปการเกษตรโดยอาศัยนวัตกรรม ต่อยอดการพัฒนาด้วยการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล หรือที่เรียกว่า Internet Of Things ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร การบริการ ธุรกิจการเกษตรและเศรษฐกิจของไทยได้อีกมากมายมหาศาล ตนเชื่อว่าด้วยภูมิปัญญาของปราชญ์เกษตรรุ่นใหญ่และพลังของกลุ่มคนหนุ่มสาว ผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ มีศักยภาพสูงและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก จะร่วมกันเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์เกษตรกรรมด้วยนวัตกรรม และเป็นความหวังในการนำพาเศรษฐกิจไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก รวมถึงควรเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรรมให้เกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดด

อธิการบดี กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่มีอาชีพใดที่จะมั่นคงยั่งยืนได้ในสังคมที่ล้มเหลว ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาประเทศ ภาคการเกษตรจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็น ผู้นำนำการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทย เราจะต้องใช้ความสามารถและประสบการณ์ที่มีเข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่กระบวนการผลิตจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังต้องร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคประชาสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาการศึกษา และองค์ความรู้ให้กับประชาชน ภายใต้การทำงานโดยใกล้ชิดร่วมกับภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานในภาพรวม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาตามที่ตั้งไว้

อาจารย์สุเทพ มุงคุณ ประธานเครือข่ายคณบดีคณะเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ กล่าวว่า กิจกรรมการประชุมและแข่งขันทักษะวิชาชีพในเครือข่ายคณะคณบดีการเกษตรฯ จัดมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะทางวิชาการและความเป็นเลิศแก่นักศึกษา ด้วยกิจกรรมการแข่งขันทักษะวิชาการและวิชาชีพในด้านการเกษตรและอาหาร เมื่อนักศึกษามีโอกาสสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยของตนในเวทีการแข่งขันระดับภูมิภาคและระดับชาติ ย่อมเกิดความภาคภูมิใจ อีกทั้งการประชุมเครือข่ายคณบดีและการประชุมเครือข่ายกิจการนักศึกษา จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแวดวงวิชาการทางด้านการเกษตรอย่างกว้างขวาง และนำไปสู่การปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยข้าราชการ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักศึกษา กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ราว 800 คน

ด้าน ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการประชุมเครือข่ายคณบดี ประชุมเครือข่ายกิจการนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ราชภัฏทั่วประเทศแล้ว กิจกรรมครั้งนี้ยังประกอบด้วยการแข่งขันทางด้านวิชาการ ได้แก่ ตอบปัญหาทางด้านพืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ ประมง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เทคนิคสัตวแพทย์และการพยาบาลสัตว์ แข่งขันแผนธุรกิจ แข่งขันนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการเกษตรและด้านอาหาร และการแข่งขันทางด้านทักษะทางการเกษตร ได้แก่ แข่งจัดตู้ปลา แข่งกรอกวัสดุปลูกใส่ถุง แข่งทดสอบทักษะประสาทสัมผัส แข่งสะบัดแส้ แข่งรีดเต้านมเทียม จับปลาไหล และ ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง นอกจากนั้น ทางคณะฯ ยังนำผู้เข้าร่วมประชุมไปศึกษาดูงานทางด้านการเกษตรและการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ จ.สงขลา ด้วย

 

แกลเลอรี่