หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล
คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร

ประวัติความเป็นมา

           หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เริ่มเปิดใช้เมื่อปีการศึกษา 2543 จนถึงปีการศึกษาปัจจุบัน ในระยะเวลาดังกล่าวทางสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรมาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งแรกได้ดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2548 เพื่อสอดรับจากการเปลี่ยนชื่อสถาบันราชภัฏยะลาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สำหรับการปรับปรุงสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ครั้งที่สองและสามได้ดำเนินการเมื่อปี  พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2555  ตามลำดับ เพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัย และสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

           หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ได้ผลิตบัณฑิตมาแล้ว 11 รุ่น เข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประกอบธุรกิจส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังมีบัณฑิตส่วนหนึ่งได้ทำการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ผลจากการใช้หลักสูตรปัจจุบัน (หลักสูตรปี 2555)เป็นระยะเวลา 4 ปี และจากความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายจึงนำมาสู่การปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรครั้งนี้
         กระบวนการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์  พ.ศ. 2560 ได้ยึดหลักการของผู้มีส่วนร่วมใช้หลักสูตร โดยเริ่มจากการสำรวจความคิดเห็นและศึกษาความต้องการฃองผู้เรียน ผู้สอน และผู้ใช้บัณฑิต จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัย ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และให้ได้มาตรฐานตามที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษากำหนด รวมทั้งเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายสู่ชุมชน อีกทั้งเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในสาขาดังกล่าวของชุมชนและท้องถิ่น
           การปรับปรุงที่สำคัญของสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างรายวิชากลุ่มวิชาเฉพาะด้าน และเฉพาะด้านบังคับ นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงเนื้อหาของรายวิชาเดิม และเพิ่มรายวิชาใหม่ที่สัมพันธ์กับความก้าวหน้าทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ สำหรับโครงสร้างของหลักสูตรใหม่ยังคงประกอบไปด้วย 3 หมวดหลัก ได้แก่ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมวดวิชาเฉพาะ และหมวดวิชาเลือกเสรี
          ในส่วนของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปมีจำนวน 30 หน่วยกิต หมวดวิชาเฉพาะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 96 หน่วยกิต ซึ่งประกอบไปด้วยวิชาแกนจำนวน 17 หน่วยกิต วิชาเฉพาะด้านจำนวน 72 หน่วยกิต และวิชาประสบการณ์วิชาชีพหรือสหกิจศึกษาจำนวน 4 หน่วยกิต ทั้งนี้ในส่วนของกลุ่มวิชาเฉพาะด้านยังได้แบ่งเป็น วิชาเฉพาะด้านบังคับจำนวน 60 หน่วยกิต และวิชาเฉพาะด้านเลือกจำนวนไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต สำหรับหมวดวิชาเลือกเสรีมีจำนวน 6 หน่วยกิต ในด้านจุดเด่นของหลักสูตรจะมุ่งเน้นไปที่การผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะปฏิบัติด้านการพัฒนาซอฟแวร์ การบริหารจัดการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และการจัดการฐานข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัณฑิตมีทักษะในการประยุกต์นำความรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์สู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาของสังคมได้อย่างเหมาะสม