ประวัติความเป็นมา

20 เมษายน 2567 (ผู้ดูแลระบบ) เกี่ยวกับหน่วยงาน

ความสำคัญของหลักสูตร      

                   ปัจจุบันประชาชนได้หันมาใส่ใจในสุขภาพ ความงาม ควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ทำให้สารสกัดจากธรรมชาติได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพหรือความสวยความงาม เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพและความมั่นใจกับตัวเอง ส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องสำอางในปัจจุบันขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีความหลากหลายทั้งเรื่องชนิด คุณสมบัติ คุณภาพ และราคาที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ประกอบกับจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีพืชสมุนไพรมาก โดยภาครัฐในพื้นที่ได้สนับสนุนการปลูกและการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ ในปี พ.ศ. 2561 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาความสัมพันธ์ทางภาษา วัฒนธรรม และวิชาการ ระหว่างสถาบันการศึกษา ชมรมคนไทยเชื้อสายจีนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย กับบริษัทเอกชนของประเทศจีน (YUNNAN SONGLAND CULTURAL DEVELOPMENT CO., LTD.) เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการที่จะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นทางการค้า การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศรวมถึงการส่งเสริมการผลิตและส่งออกอาหารฮาลาล สมุนไพรไทย และไก่เบตงไปยังประเทศจีน จากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่าในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีศักยภาพในการส่งเสริมการผลิต เนื่องจากมีพืชสมุนไพรอยู่มากและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตามกลับพบว่ายังไม่มีการแปรรูปการนำสมุนไพรไปใช้ประโยชน์ มีเพียงการส่งออกในรูปแบบของพืชสมุนไพรสด และการนำไปใช้เป็นยาทางเลือกเท่านั้น (https://www.benarnews.org/thai/news/TH-chinese-deepsouth-04262018132901.html)

                  หากพิจารณาถึงอัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจในหมวดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและสุขภาพหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ประชาชนตระหนักและให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหนึ่งในเทรนด์ธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ อุตสาหกรรมยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารเพื่อสุขภาพ จากข้อมูลของ Euro monitor International บริษัทสำรวจข้อมูลชั้นนำคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ (ยาที่จำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ อาหารเสริมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรหรือยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์ดูแลน้ำหนักโภชนาการทางการกีฬา)      ทั่วโลกในปี 2564-2568 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5.7% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีมูลค่า 2.72 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการเติบโตส่วนใหญ่จะมาจากภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย) และยุโรปตะวันออก โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ และคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของไทยในปี 2568 จะมีจำนวน 1.33 แสนล้านบาท โดยกลยุทธ์สำคัญในการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามในประเทศไทยจึงต้องมุ่งเน้นการวิจัยสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยความใส่ใจในทุกขั้นตอนโดยคำนึงถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์และผู้บริโภคเป็นสำคัญ ตลอดจนคัดสรรวัตถุดิบธรรมชาติจากในท้องถิ่นหรือทั่วโลกเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอางคุณภาพสูงที่มีเอกสิทธิ์เฉพาะ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์