มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร

ประวัติความเป็นมา

        การพัฒนาหลักสูตรนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อให้สามารถนำประเทศไปสู่การพลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจ สร้างมูลค่าอย่างยั่งยืนในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมและจัดทำบนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ซึ่งเป็นแผนแม่บทหลักของการพัฒนาประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และสอดคล้องกับสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการปรับโครงสร้างของประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อมุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการทางสังคมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศ นอกจากนี้จากผลการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามดัชนีการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติสะท้อนว่าคนไทยทุกช่วงวัยมีความรู้ความสามารถโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่กลับพบว่ามีทักษะด้านการอ่านหรือการศึกษาหาความรู้ลดลง และมีจำนวนเยาวชนที่ไม่ได้เรียนและไม่ได้ทำงานใด ๆ เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ศักยภาพของเยาวชนกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์และไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งประเด็นด้านการพัฒนาทุนทรัพยากรมนุษย์เชิงคุณภาพเป็นความท้าทายที่สำคัญของไทยมาโดยตลอด ซึ่งปรากฏในรายงานขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ทำการทดสอบความรู้ความเข้าใจของนักเรียนอายุ 15 ปีทั่วโลก ในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน พบว่านักเรียนไทยร้อยละ 59.5 อยู่ในกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และมีนักเรียนไทยเพียงร้อยละ 0.18 ที่ทำคะแนนได้ในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐาน ทั้งยังขาดความเชื่อมโยงระหว่างระบบการศึกษาและตลาดแรงงานจึงเป็นข้อจำกัดในการผลิตและยกระดับทักษะทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและทิศทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศสู่ฐานนวัตกรรมที่มีแนวโน้มความต้องการทักษะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

     จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ประเทศต้องเผชิญในหลายบริบท โดยเฉพาะความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและภัยคุกคามทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนให้สามารถปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและมีภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและจากวิกฤตการณ์พัฒนาที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ดังนั้นการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงด้านการพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจ สติปัญญา ความรู้ มีคุณธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรม ในการดำรงชีวิตเพื่อสามารถอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและสามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขภายใต้การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและภายใต้ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี