หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา



ประวัติความเป็นมา

      ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนเกือบทุกด้าน รวมถึงการขยายตัวทางภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมการ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีคุณภาพทางด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยเพิ่มพูนทักษะกระบวนการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการถ่ายทอดวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการรองรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคโลกไร้พรหมแดน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในฐานะหน่วยงานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ ซึ่งสามารถเป็นผู้นำในการพัฒนาและผลิตบุคลากรที่มีความจำเป็นต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในท้องถิ่น ดังนั้นหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจึงมีการปรับปรุงหลักสูตร พ.ศ. 2562 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนทางสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาอันเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลทุกๆ ด้าน ตลอดจนเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการแก่บุคลากรของท้องถิ่นและการถ่ายทอดวิทยาการใหม่สู่สังคมท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

       หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2562 เป็นการปรับปรุงหลักสูตรครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามแนวทางความต้องการของท้องถิ่น โดยคณะกรรมการผู้รับผิดชอบหลักสูตรได้ทำการศึกษาความจำเป็นในการพัฒนา/ปรับปรุงหลักสูตร จากการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นหลักสูตรที่มีประโยชน์ต่อผู้เรียนในการประกอบอาชีพในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2562 มีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 38 หน่วยกิต เป็นแผนการศึกษาแบบ ก 2 โครงสร้างของหลักสูตร ประกอบด้วย หมวดวิชาบังคับ 16 หน่วยกิต     หมวดวิชาเลือก ไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต หมวดวิชาเสริม (ไม่นับหน่วยกิต) และวิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต สำหรับอัตลักษณ์จุดเด่นของหลักสูตรเป็นหลักสูตรที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อนำมาประยุกต์เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมในสังคม โดยตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น คือ การแก้ไขปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม การเพิ่มศักยภาพด้านการอนุรักษ์เป็นการดำเนินการที่ดีต่อประเทศชาติ