งานวิจัยและบริการวิชาการ
คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร

คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร(Faculty of Science Technology and Agriculture) เป็นส่วนราชการทำหน้าที่จัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พัฒนาการมาจากโรงเรียนอาชีพกสิกรรม จังหวัดยะลา โรงเรียนฝึกหัดครูยะลา วิทยาลัยครูยะลา และสถาบันราชภัฏยะลา มีวิวัฒนาการด้านวิชาการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี โดยมีเหตุการณ์สำคัญด้านการพัฒนาทางวิชาการตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ. 2506 หมวดวิชาวิทยาศาสตร์เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูง วิชาเอก วิทยาศาสตร์ทั่วไป ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และวิธีสอนวิทยาศาสตร์ ระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา

พ.ศ. 2520 เปิดสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตร 2 ปี สาขาครุศาสตร์ วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป

พ.ศ. 2522 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 2 ปี สาขาครุศาสตร์ วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป ตามโครงการ อบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำการ (อคป.)

พ.ศ. 2527 เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง วิชาเอกเทคนิคการอาชีพการอาหาร สัตวบาลและกสิกรรม ระดับปริญญาตรีหลักสูตร 2 ปี วิชาเอกสุขศึกษา พลศึกษา ระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณิตศาสตร์

พ.ศ. 2528 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี สาขาวิชาการศึกษา พลศึกษา ปริญญาตรีหลักสูตร 2 ปี สาขาวิชาอุตสาหกรรมศิลป์ เกษตรศาสตร์ อนุปริญญาสาขาการอาหาร

พ.ศ. 2531 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี สาขาวิชาอุตสาหกรรมศิลป์ อนุปริญญาวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร

พ.ศ. 2532 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 2 ปี สาขาวิชาเกษตรกรรม ระดับอนุปริญญาวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาสุขศึกษา

พ.ศ. 2534 เปิดสอนระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (วท.บ.) วิชาเอกสุขศึกษา (2 ปี) อนุปริญญา สาขาวิชาคอมพิวเตอร์

พ.ศ. 2535 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ อนุปริญญาสาขาวิชาเคมีปฏิบัติ ใช้ชื่อคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันราชภัฏยะลา

พ.ศ. 2536 เปิดสอนระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (วท.บ.) หลักสูตร 4 ปี โปรแกรมวิชาชีววิทยาประยุกต์

พ.ศ. 2540 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี สาขาวิทยาศาสตร์ โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ปริญญาตรี หลักสูตร 2 ปี โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการเกษตร โปรแกรมวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา

พ.ศ. 2541 เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี สาขาวิทยาศาสตร์ 3 โปรแกรมวิชาได้แก่ เคมี วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการอาหาร และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร ได้ร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มี ความสามารถพิเศษทาง วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ในโปรแกรมวิชาชีววิทยาประยุกต์ เคมี และวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อสนองความต้องการของท้องถิ่นและให้บริการทางวิชาการแก่สังคมส่วนรวม

พ.ศ. 2547 คณะเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร” เป็นผลจาก การยกฐานะจาก “สถาบันราชภัฏยะลา” เป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา” ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 จัดการเรียนการสอนได้ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก

พ.ศ. 2549 คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มีโครงสร้างการบริหารเป็นสำนักงานคณบดีและภาควิชา 3 ภาควิชา ดังนี้ 1) ภาควิชาวิทยาศาสตร์ 2) ภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ 3) ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร

พ.ศ. 2551 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย

พ.ศ. 2553 จัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) สาขาสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา

พ.ศ. 2556 เปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พ.ศ.2557 คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร ลงนามความร่วมมือ (MoA) กับ Faculty of Mathematics and Natural Science, State University of Yogyakarta (UNY) ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อร่วมพัฒนาทางวิชาการและพัฒนานักศึกษาร่วมกัน และเปิดบริการคลินิกนวดแผนไทยร่วมกับโรงพยาบาลกรงปินัง

พ.ศ.2558 คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร จัดส่งนักศึกษาไปเรียนที่ (UNY) จำนวน 7 คน จากสาขาเคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา เรียนเป็นเวลา 1 ภาคเรียน และได้เทียบโอนหน่วยกิตกลับมาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร ลงนามในความร่วมมือ (MoU) กับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อร่วมกันพัฒนาวิชาการและพัฒนานักศึกษาทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ด้านการเกษตร

คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร ลงนามความร่วมมือกับ 4 คณะ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยราชภัฏ 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เพื่อร่วมมือกันพัฒนางานวิจัยและบริการวิชาการด้านดาราศาสตร์ โดยมีสถาบันวิจัยศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยสนับสนุน